คนไทยแก่ก่อนรวย เลิกทำงานก่อนแก่ แต่ยังมีหนี้
ปัภสสร แสวงสุขสันต์ เศรษฐกรอาวุโส ธปท. บอกว่า ปัจจุบันไทยเราอยู่ในสถานการณ์ แก่ก่อนรวย เพราะรายได้ต่อหัวของคนไทยยังอยู่ในระดับต่ำ แต่กลับเข้าสู่สังคมสูงวัยระยะเริ่มต้น (Aging Society) คือมีผู้สูงวัย 7% ของประชากรรวม และปี 2020 จะเข้าสู่ระยะกลาง (Aged) ที่มีผู้สูงวัย 14% และต่อไปเป็นระยะรุนแรงคือ Hyper-aged ที่มีผู้สูงวัย 20% ขึ้นไป
ซึ่งข้อมูลจากบทความโครงการศึกษาด้านโครงสร้างเศรษฐกิจไทยยังบอกอีกว่าเกือบครึ่งหนึ่งของคนไทยอายุ 60 ปี ยังเป็นหนี้ และถ้ามองในมุมรายได้ของผู้สูงอายุจะมีรายได้ 61% มาจากสมาชิกในครอบครัว ดังนั้นถ้าแรงงานในครอบครัวมีน้อยลง เขาจะมีรายได้จากที่ไหน
ซึ่งปัญหาต่อเนื่องมาคือ คนไทยเริ่มออกจากตลาดแรงงานค่อนข้างเร็ว ตั้งแต่อายุ 45 ปี เทียบกับ ญี่ปุ่น ที่เขาออกจากตลาดแรงงานตอนอายุ 55-59 ปี ส่วน เกาหลีใต้ ที่อายุ 50-54 ปี ข้อมูลที่น่าสนใจคือ คนไทยที่อายุ 45 ปี ซึ่งหยุดทำงานหารายได้ส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานผู้หญิงที่มีทักษะไม่สูง หรือจบการศึกษาน้อยกว่ามัธยมต้น ต้องออกมาดูแลทำงานบ้าน กลุ่มนี้มีจำนวน 5.8 ล้านคน จากจำนวนแรงงานในไทยเกือบ 30 ล้านคน
“คนที่ออกจากตลาดแรงงานตั้งแต่อายุ 45 ปี หรือหยุดทำงานแล้วส่วนใหญ่ยังมีภาระหนี้สะสม 30% ถือว่าเป็นระดับสูง”
ทำไมคนไทยเลือกออกมาทำงานนอกระบบ โดยเฉพาะผู้หญิง
ข้อมูลจาก การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2017 และ สำรวจภาวะการมีงานทำของประชากร ปี 2017 บอกว่า แรงงานในไทย ณ สิ้นปี 2017 มีอยู่เกือบ 37 ล้านคน ประมาณ 18 ล้านคนทำงานนอกระบบ เช่น อาชีพเกษตร อาชีพอิสระ ฯลฯ ซึ่งมีความเสี่ยงว่ามีรายได้ไม่แน่นอน
ที่สำคัญรายได้เฉลี่ยของคนที่ทำงานอกระบบอยู่ที่ 7,922.953 บาทต่อเดือน น้อยกว่า คนที่ทำงานในระบบ 13,612.42 บาทต่อเดือนด้วย แต่ถ้าเราดูลึกถึงสาเหตุที่แรงงานเลือกจะออกจากระบบ มาจาก 2 ส่วนได้แก่
- ปัจจัยเฉพาะตัวบุคคล ส่วนใหญ่เกิดจากทักษะความรู้ และระดับการศึกษา หากมีแรงงานที่มีความรู้หรือทักษะเพียงพอมีโอกาสจะเลือกทำงานในระบบสูงขึ้น ซึ่งเรื่องอายุไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้เขาตัดสินใจออกจากระบบ
- ปัจจัยด้านครอบครัว บางส่วนเมื่อในครอบครัวมีผู้สูงอายุหรือเด็ก ทำให้แรงงานเลือกที่จะทำงานนอกระบบที่มีอิสระและยืดหยุ่นมากกว่า โดยเฉพาะผู้หญิงมีโอกาสจะเลิก หรือออกไปทำงานนอกระบบมากกว่าผู้ชาย
แรงงานน้อยแล้วไง ? เศรษฐกิจไทยต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง
ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกว่า ไทยเราตอนนี้ถือว่า พึ่งพาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเยอะมาก ถ้าเกิดประเทศเขาพัฒนาขึ้นมา แล้วแรงงานไหลกลับไป ไทยจะเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานตามมา
“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจีดีพีไทยโตเฉลี่ย 5% ต่อปี แต่ในอนาคตถ้าจำนวนแรงงานยังลดลงแบบนี้ไปเรื่อยๆ ปัจจัยต่างๆ ยังเหมือนเดิม อีก 10 ปี ข้างหน้า แรงงานจะลดลงคิดเป็น 1.5% ของจีดีพี ทำให้ จีดีพีไทยจะโตเหลือ 3.5% เท่านั้น”
นอกจากไทยต้องแก้ปัญหาผ่านการเพิ่ม Automations หรือการนำเครื่องจักรมาทำงาน เราต้องหาทางที่จะดึงกลุ่มแรงงานอายุ 45-60 ปี โดยเฉพาะผู้หญิงให้กลับมาที่ตลาดแรงงาน ซึ่งต้องปรับทั้งเรื่องการศึกษา และเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน เพื่อจูงใจกลุ่มนี้
ธปท. เสนอแนวทางแก้ปัญหาเพิ่มการศึกษา-ทักษะ
ณัคนางค์ กุลนาถศิริ เศรษฐกร ธปท. บอกว่า จากการวิจัยเรามีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายใน 2 เรื่อง คือ
- การเพิ่มและการเสริมทักษะแรงงานไทยตลอดช่วงอายุ คือต้องเพิ่มทักษะที่เขามีอยู่ให้ดีขึ้น และเสริมทักษะใหม่ๆ ให้เขาสามารถรับกับตลาดแรงงานในอนาคตได้ด้วย โดยภาครัฐต้องสร้างความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อสร้างศูนย์การพัฒนาทักษะแรงงาน เหมือนในต่างประเทศ เช่น สิงค์โปร์ เกาหลีใต้ ที่ตั้งศูนย์ฯ ให้แรงงานสามารถเดินเข้าไปเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตัวเองได้ตลอดเวลา เช่น ทักษะภาษาอังกฤษ ฯลฯ
- การเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน ผ่านการใช้วิธีจูงใจทั้งแรงงานและนายจ้างให้ช่วยแบ่งเบาภาระของแรงงาน โดยเฉพาะเพศหญิง ที่อาจจะต้องดูแลครอบครัว เช่น รัฐต้องจูงใจนายจ้างให้ออกแบบงานให้มีความยืดหยุ่นในเรื่องช่วงเวลาการทำงาน เงื่อนไข หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่ใช้ร่วมกันได้ บางครั้งอาจจะรวมถึงการจ้างงานผู้สูงอายุที่มีทักษะ เช่น จ้างผู้สูงอายุมาสอน หรือ ขยายเวลาเกษียณช้าลงไป (เช่น 5 ปี)
สรุป
ประเทศไทยเสี่ยงสูง มีวิกฤตแรงงานเพราะสังคมสูงวัย และคนออกจากระบบเร็วตั้งแต่อายุ 45 ปี ธปท. แนะแนวทางตั้งศูนย์การเรียนรู้เพิ่มทักษะแรงงาน และเพิ่มการศึกษาให้แรงงาน